พาชมเบื้องหลังของ ‘Khiri Thai Tea’ คาเฟ่ชาไทย ที่ตั้งใจนำเสนอชาท้องถิ่นให้ทุกคนเข้าถึงได้

Published on April 24, 2024

จากความชอบความหลงใหลในกลิ่นและรสชาติของ ‘ชาไทย’ เป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ ‘คุณแพร-มิญชยา บูรณะเศรษฐกุล’ เริ่มมีความตั้งใจที่อยากจะเปิดคาเฟ่ชาไทย จนไปศึกษาชาท้องถิ่นกับเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ตามจังหวัดต่าง ๆ แล้วนำมาเสนอให้ทุกคนได้ลิ้มลองในรูปแบบใหม่ ๆ แต่ยังคงความตั้งใจที่อยากชูเอกลักษณ์ของชาท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่นั้นเอาไว้ กลายมาเป็น ‘Khiri Thai Tea’ คาเฟ่ชาไทยสุดเก๋ในย่านหัวลำโพง

Behind the Taste ครั้งนี้ BKK. ขอพาทุกคนมาทำความรู้จักและรับชมเรื่องราวเบื้องหลังความอร่อยและหอมกรุ่นของคาเฟ่ชาไทยแห่งนี้ให้มากขึ้น นับตั้งแต่ที่มาที่ไปของทางร้าน อะไรคือสิ่งที่ทำให้รักในการดื่มชาจนทำให้เกิดแพชชันในการทำร้านชาเป็นของตัวเอง ความโดดเด่นของชาไทยจากทางร้าน ความแตกต่างของชาจากจังหวัดต่าง ๆ ไปจนถึงเมนูไฮไลต์ที่ห้ามพลาด ถ้าพร้อมแล้ว ตามไปชมเรื่องราวของ ‘Khiri Thai Tea’ ที่แน่นอนว่าอาจจะทำให้ใครหลายคนเปิดโลกของชาไทยได้มากขึ้น!

 

‘คุณแพร-มิญชยา บูรณะเศรษฐกุล’ เจ้าของร้าน ‘Khiri Thai Tea’


จากการชอบดื่มชามาตั้งแต่เด็ก
สู่การเปิดคาเฟ่ชาไทยให้ทุกคนเข้าถึงได้

“จุดเริ่มต้นเลยคือเราเป็นคนชอบดื่มชาไทยมาตั้งแต่เด็ก ๆ จนทำให้เริ่มไปศึกษาแล้วก็ให้ความสนใจกับชาไทยมากขึ้น แล้วพอมีโอกาสได้ลองศึกษาอย่างจริงจัง ก็เห็นว่าชาไทยนั้นมีความหลากหลายไม่ต่างจากกาแฟ แล้วก็มีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนกันด้วย เพราะขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ที่ปลูก วิธีการปลูก วิธีการเก็บเกี่ยว เราก็ได้ไปดูทั้งวิธีการผลิต การทำให้ชาไทยเข้าถึงทุกคนได้ง่ายขึ้น ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่อยากจะทำร้านชาไทยอย่างจริงจังขึ้นมา บวกกับมาเจอโลเคชันในย่านหัวลำโพงตรงนี้ด้วย ก็รู้สึกว่าเหมาะกับการทำร้านชาไทย เลยเกิดเป็น ‘Khiri Thai Tea’ ขึ้นมา ตั้งใจนำเสนอชาไทยให้ทั้งคนไทยและต่างชาติสามารถเข้าถึงในรูปแบบใหม่ ๆ ได้”

 

จากการชอบดื่มชาจนทำให้เกิดแพชชันในการทำร้านชาเป็นของตัวเอง

“หากย้อนกลับไปในช่วงโควิดที่ผ่านมาเหมือนเราได้มีเวลาอยู่กับตัวเองมากขึ้น ได้รู้ว่าตัวเองชอบอะไร วันหยุดก็จะชอบไปคาเฟ่ แล้วส่วนใหญ่คาเฟ่ก็จะมีกาแฟให้เลือกหลากหลาย แต่เมนูชาไทยกลับมีแค่เมนูเดียว ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นในการตั้งคำถามว่าทำไมถึงไม่มีคาเฟ่ที่มีเฉพาะชาอย่างเดียว แต่มีหลากหลายเมนูชาให้เลือก ก็เลยเป็นแรงบันดาลใจให้เรามาโฟกัสกับชาจริง ๆ มาลองศึกษาดูว่าชามันมีหลากหลายประเภทแค่ไหน เลยคิดว่าถ้าเปิดร้านที่มีแต่เมนูชาหมดเลยก็น่าจะดี”

 

คาเฟ่ชาไทยในบรรยากาศของตึกเก่าย่านหัวลำโพง


‘ภูเขา’ แหล่งปลูกของชา กลายมาเป็นแรงบันดาลใจในการตั้งชื่อร้าน

“สำหรับชื่อ ‘Khiri’ แปลว่า ‘ภูเขา’ คือเรารู้สึกว่ามันมีความหมายในตัวของมันเอง ไม่ว่าจะอ่านออกเสียงเป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาไทยก็สามารถสื่อได้ถึงความหมายของภูเขาได้ และยังหมายถึงแหล่งปลูกของชาบนเขาอีกด้วย เพราะส่วนใหญ่ชาก็จะปลูกอยู่ที่ภูเขาทางภาคเหนือของไทยเป็นส่วนใหญ่ ก็เลยเลือกใช้คำนี้เป็นชื่อร้าน”

 

การตกแต่งร้านด้วยภาพใบชาที่เก็บเกี่ยวจากภูเขา


ครีเอตเมนูชาหลากหลายให้ทุกคนเลือกได้ตามความชอบ

“สำหรับชาของที่ร้านก็จะมีให้เลือกหลากหลายแบบ หลัก ๆ จะแบ่งเป็น 2 หมวดด้วยกัน จะมี Signature และ Single Origin Tea ที่สามารถเลือกตามความชอบของลูกค้าได้ ในหมวดของเมนู Signature เราก็จะพยายามครีเอตให้สร้างสรรค์ในแบบที่ไม่มีใครเคยทำมาก่อน เพราะเราอยากให้คนที่เข้ามาได้ลองดื่มชาที่หาไม่ได้จากที่ไหน ซึ่งก็จะมีให้เลือกหลากหลายรูปแบบเลย เพราะอยากให้คนทุกกลุ่มทุกวัยสามารถเข้าถึงได้ ก็จะมีทั้งแบบเย็น แบบเกล็ดน้ำแข็ง แบบสมุนไพร”

 

ครีเอตเมนูชาหลากหลายให้ทุกคนเลือกได้ตามความชอบ

“ส่วนในหมวดของ Single Origin Tea จะเป็นชาที่เราได้ไปศึกษากับเกษตรกรท้องถิ่นในจังหวัดเชียงใหม่ คือกระบวนการทำชาทั้งหมดจะอยู่ที่เชียงใหม่เลย แต่ด้วยพื้นที่ปลูกที่มีอย่างจำกัด ทำให้ทางเกษตรกรต้องนำต้นชาไปปลูกตามจังหวัดต่าง ๆ ด้วย เพราะฉะนั้นใบชาที่เกิดขึ้นในแต่ละจังหวัดของประเทศไทยมันก็จะมีรสชาติที่ไม่เหมือนกัน บวกกับใบชาในแต่ละจังหวัดก็จะมีวิธีการคั่วที่แตกต่างกันด้วย แบบคั่วเข้ม คั่วกลาง หรือคั่วอ่อน ในหมวดนี้ลูกค้าก็สามารถเลือกได้เลยว่าชอบดื่มชารสชาติแบบไหน คือเราก็พยายามจะออกแบบเมนูให้เข้าถึงทุกคน”

 

Single Origin Tea ที่ลูกค้าสามารถเลือกได้ว่าชอบดื่มรสชาติแบบไหน

“ถ้าถามถึงเสน่ห์ของทางร้าน ก็คิดว่าอาจจะเป็นในเรื่องของเมนูและใบชาที่หลากหลาย แล้วก็มีเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละตัวที่ไม่เหมือนกัน ทำให้ลูกค้าสามารถเลือกสรรความอร่อยได้ตามความต้องการ อีกทั้งชาไทยยังเป็นเมนูที่สามารถดื่มได้ทานได้ทุกวันด้วย”


Single Origin Tea

“สำหรับ Single Origin Tea แนะนำตัวแรกคือ ‘พะเยา’ จะเป็นตัวที่อ่อนสุด คือเราจะใช้ยอดและใบเป็นหลักในการทํา เพราะฉะนั้นพื้นที่เพาะปลูกจะต้องเป็นดินที่อุดมสมบูรณ์ แล้วก็มีความแน่นของตัวดิน เพื่อที่เวลาปลูกออกมายอดกับใบมันสามารถให้กลิ่นแล้วก็รสที่ชัดเจนมากที่สุด ตัวนี้ก็เลยครีเอตให้เป็นเมนูชาดำ เพื่อคงกลิ่นและรสชาติเอาไว้ ด้วยพื้นที่และอากาศที่ปลูกในหุบเขา รสชาติก็จะซับซ้อนหน่อย ส่วนตัวที่สองจะเป็น ‘แม่ฮ่องสอน’ ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่จะเคยปลูกผลไม้ตระกูลเบอร์รีมาก่อน รสชาติก็จะออกไปในโทนฟรุตตี้ มาถึงอีกหนึ่งตัวที่ขายดีจะเป็น ‘เชียงราย’ คั่วแบบ Medium ด้วยพื้นที่เนินเขาสูง มันก็จะมีความอุดมสมบูรณ์ รสชาติก็เลยจะออกไปในโทนเรียบ ๆ เบา ๆ ดื่มง่าย จะใส่นมก็ได้หรือไม่ใส่นมก็ได้ เพราะกลิ่นชาจะมีความชัดเจน มีรสชาติขมปลาย ๆ ส่วนอีกตัวจะเป็นคั่วเข้มแบบ Dark เลย ซึ่งก็จะมีให้เลือกสองตัวคือจากทางภาคเหนืออย่าง ‘แพร่’ แล้วก็มีจากทางภาคใต้อย่าง ‘ปัตตานี’ เพื่อให้ลูกค้าได้สัมผัสความแตกต่างระหว่างชาของภาคเหนือและภาคใต้ สำหรับรสชาติของแพร่จะให้ความเข้มและรสเปรี้ยวปลาย ๆ ส่วนปัตตานีด้วยความที่พื้นที่เขาเคยปลูกกาแฟ ยางพารามาก่อน มันก็จะมีความเข้มมาก เราก็ครีเอตให้เอามาดื่มกับนมก็จะลงตัวพอดี”

 

Single Origin Tea แม่ฮ่องสอน, แพร่, เชียงราย, ปัตตานี

 

Single Origin Tea ปัตตานี


Signature Menus

“ตัวแรกที่เป็นไฮไลต์ของทางร้านเลย คือ ‘On Cloud’ ชาไทยเกร็ดน้ำแข็งที่เราจะเน้นความเข้มข้นของชา ไม่ว่าจะละลายแค่ไหนก็ยังให้สัมผัสได้ถึงความเข้มข้นของชาอยู่ ท็อปด้วยครีมเนียนนุ่ม ผสมผสานความเป็นไทยด้วยทองม้วน ที่เราไปสนับสนุนคนในชุมชนจากจังหวัดเพชรบุรีมา ส่วนด้านล่างจะมีบุกให้เคี้ยวเพลิน ๆ คู่กัน”

 

On Cloud

“อีกตัวที่ขายดีคือ ‘Thai Tea Dirty’ ด้านล่างจะเป็นนมเย็น ๆ แล้วท็อปด้วยชาไทยเข้มข้น ผสมกับช็อตกาแฟบาง ๆ เหมาะสำหรับใครที่อาจจะไม่ได้ชอบดื่มกาแฟที่เข้มมาก เพราะแก้วนี้จะได้ทั้งรสชาติและกลิ่นของกาแฟที่ผสมกับชาไทยในรสชาติดื่มง่ายมากขึ้น”

 

Thai Tea Dirty


Bun

“นอกจากเครื่องดื่มชาไทยที่เป็นซิกเนเจอร์ของทางร้านแล้ว ก็จะมีซิกเนเจอร์ที่เป็นเมนูขนมหวานด้วย จะเป็นบันซาลาเปาเนื้อนุ่มอบเนยจนได้ความกรอบด้านนอกแต่มีความนุ่มด้านใน เสิร์ฟมาพร้อมไอศกรีมที่มีให้เลือกหลากหลายรสชาติ สำหรับตัวที่ขายดีคือ ‘Thai Tea Bun’ มีไฮไลต์คือไอศกรีมชาไทยรสชาติเข้มข้น ผสมกับทองม้วนกรอบ ๆ ด้านล่างให้ทานเพลิน ๆ”

 

Thai Tea Bun


ชาท้องถิ่นของไทยก็รสชาติดีได้ไม่แพ้ชาติอื่น

หากถามถึงความรู้สึกของการเป็นผู้เปิดมุมมองของชาไทยให้หลายคนได้ทำความรู้จักในรูปแบบใหม่มากขึ้น รวมถึงอยากให้ฝากเรื่องราวของชาที่หลายคนอาจจะไม่เคยรู้มาก่อน คุณแพรเล่าว่า

“จริง ๆ ชาไทยมันค่อนข้างซับซ้อนและมีเอกลักษณ์ในแต่ละตัวที่ไม่เหมือนกัน หลายคนสามารถแยกความแตกต่างของกาแฟได้ ชาเองก็เช่นเดียวกัน คือเราก็สามารถแยกความแตกต่างได้ว่ารสชาติเป็นยังไง มันก็เหมือนเป็นเสน่ห์ของชาที่ทำให้รู้สึกว่าเราอยากจะค้นหามัน แล้วก็กินทุกวัน เพื่อจะได้รู้ว่ารสชาติไหนที่มันดี มันก็เป็นประสบการณ์อีกอย่างที่ทำให้เรารู้ว่าจริง ๆ แล้ว สายพันธุ์ชามันมีเยอะมาก คือเราไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าชาไทยมันจะมีเยอะขนาดนี้ ซึ่งจริง ๆ แล้วประเทศไทยเราปลูกชาไทยได้ดีพอ ๆ กับกาแฟเลย ด้วยสภาพดินและอากาศที่มันสามารถทําใบชาดี ๆ ได้ ส่วนใหญ่คนจะเข้าใจว่าชาที่ดีต้องมาจากจีน เกาหลี ญี่ปุ่น แต่จริง ๆ แล้วชาของประเทศไทยเราก็สามารถทําได้ดีไม่แพ้กัน”

 

เสน่ห์ความหลากหลายของชาที่ทำให้รู้สึกว่าอยากจะค้นหามัน


“เราเองก็รู้สึกดีใจและภูมิใจว่าได้มีโอกาสนำชาที่เป็นผลผลิตของเกษตรกรในประเทศไทยมาให้ทุกคนได้เข้าถึงและรู้จักมากขึ้น แล้วก็จะพัฒนาให้ดีขึ้นต่อไป ในทุก ๆ เดือนเราจะบินไปเชียงใหม่ เพื่อศึกษาพูดคุยกับเกษตรกรว่าลองชาตัวนี้แล้วเป็นยังไง แล้วจะพัฒนาไปในรูปแบบไหน เหมือนเราได้สนับสนุนคนในท้องถิ่นและพัฒนาร่วมกัน ก็เลยรู้สึกภูมิใจในส่วนนี้ว่าคนไทยก็มีความสามารถไม่น้อยไปกว่าชาติอื่น”

 

ศึกษาชากับเกษตรกรท้องถิ่นในจังหวัดเชียงใหม่ จนมาเปิดคาเฟ่ชาไทยให้เข้าถึงง่าย


เปลี่ยนตึกเก่าให้กลายเป็นสถานที่ที่รวมทุกอย่างเกี่ยวกับ ‘ชาไทย’

“ด้วยตึกนี้เป็นตึกเก่าที่มีทั้งหมด 7 ชั้น ตอนแรกก็แพลนไว้ว่าจะเปิดแค่ 3 ชั้น แต่พอทำร้านมาเรื่อย ๆ ก็รู้สึกว่าอยากจะลองทำเบเกอรีที่ใช้วัตถุดิบจากชาไทย บวกกับอยากมีโซนที่จัดให้เป็น Pairing ชาไทยกับขนม หรือชาไทยกับอาหาร แต่อาจจะเป็นอาหารทานง่าย ๆ คู่กับชา เพื่อเปิดโลกของชาไทยให้คนเข้าถึงมากขึ้น ก็เลยมีแพลนที่จะเปิดให้ครบทุกชั้นเลย คือในตึกนี้จะมีครบทุกอย่างที่เป็นชาไทย มีโซนที่ทําเป็นชาไทยสําเร็จรูปสำหรับซื้อกลับบ้าน เพราะบางทีคนที่มาทานก็อยากได้ชากลับบ้านหรือต่างชาติบางคนก็อยากเอากลับไปฝากเพื่อน ๆ หรือฝากที่บ้าน ในอนาคตก็เลยจะมีโซนชาสําเร็จรูปของที่ร้านด้วย”

 

ในอนาคตตึก 7 ชั้นแห่งนี้ จะกลายเป็นสถานที่ที่รวมทุกอย่างเกี่ยวกับ ‘ชาไทย’ แบบครบครัน

 

เปลี่ยนตึกเก่าให้กลายมาเป็นคาเฟ่ชาไทยในบรรยากาศอบอุ่น

“ถ้าถามว่ามีแพลนที่จะขยายสาขาไหม จริง ๆ ก็มีแพลนอยู่เหมือนกัน แต่ว่าอยากทำให้ที่นี่ลงตัวก่อน คือเราก็อยากให้คนเข้าถึงชาไทยได้มากกว่านี้ เพราะเราคิดว่าชาไทยมันมีอะไรให้เราได้ลองอีกเยอะมาก ๆ ก็เลยคิดว่าถ้าเราขยายสาขาเพิ่มหรือว่าเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น มันก็จะทําให้ชาไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้น”

 

ชาไทยมีอะไรให้ได้ลองอีกเยอะมาก ถ้าขยายสาขาเพิ่มก็จะทําให้ชาไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้น

สำหรับใครที่ชอบดื่มชาไทย ต้องลองแวะมาลิ้มลองความอร่อยของชาไทยรูปแบบใหม่ในหลากหลายเมนูกับ ‘Khiri Thai Tea’ ที่คุณแพรได้ทิ้งท้ายไว้ว่า

“ที่ร้านของเรามีชาไทยค่อนข้างหลากหลาย แล้วก็เข้าถึงคนทุกกลุ่มทุกวัย ถ้าหากใครยังไม่เคยลองทานชาไทยในแบบมิติใหม่ ก็อยากให้ลองเข้ามาทานที่ร้านดูนะคะ เพราะทุก ๆ กระบวนการและขั้นตอนการทำของทางร้านเราตั้งใจทำมาก แล้วก็อยากให้ลูกค้าได้ลองมาค้นหาว่า จริง ๆ แล้วตัวเองชอบทานชาแบบไหน”

 

ลิ้มลองความอร่อยของชาไทยรูปแบบใหม่ในหลากหลายเมนูกับ ‘Khiri Thai Tea’


Khiri Thai Tea
ข้างวัดไตรมิตร ฝั่งวงเวียนโอเดียน (MRT หัวลำโพง)
เปิด วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 09.00-19.00 น. , วันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 09.00-20.00 น.
โทร. 08-3469-8529
www.facebook.com/p/Khiri-Thai-Tea-61552625670777
www.instagram.com/khiri_thaitea