ถอดบทเรียนความสำเร็จของ 'เชฟแพม-พิชญา สุนทรญาณกิจ' เชฟหญิงไทย กับการบาลานซ์หลากหลายบทบาทไว้เป็นหนึ่งเดียว

Published on August 09, 2024

ต้อนรับเดือนแห่งวันแม่ พร้อมส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับคนที่มีความฝัน ผู้มีความมุ่งมั่นในสายอาชีพเชฟหรือวงการอาหารโดยเฉพาะ สำหรับซีรีส์ #BKKTALK ในครั้งนี้ BKK. ขอพาทุกคนมาร่วมภาคภูมิใจไปกับ ‘เชฟแพม-พิชญา สุนทรญาณกิจ’ หนึ่งในไอดอลหญิงไทยที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย ในฐานะเชฟหญิงที่คว้ารางวัล Asia’s Best Female Chef Award ประจำปี 2024 ผู้เป็นเจ้าของ ร้านโพทง (POTONG) ดีกรีร้านรางวัลมิชลินสตาร์ 1 ดาว และนำพาวงการอาหารไทยไฟน์ไดน์นิ่งไปสู่เวทีโลกได้อย่างสำเร็จ นอกจากบทบาทของการเป็นเชฟหญิงมากฝีมือแล้ว เธอยังบาลานซ์ทุกพาร์ทของการใช้ชีวิตได้อย่างกลมกลืน โดยเฉพาะจิตวิญญาณของความเป็นแม่และผู้สนับสนุนความสามารถของเยาวชนหญิงไทย ให้เติบโตในสายอาชีพวงการอาหารได้อย่างเท่าเทียม


หลากหลายเรื่องราวของเธอคนนี้จะชวนประทับใจ และเติมเต็มแพสชันให้กับผู้รักการทำอาหารได้อย่างไรบ้างนั้น ติดตามได้จากบทสัมภาษณ์สุดเอ็กซ์คลูซีฟ ที่นำบทเรียนความสำเร็จ ความฝัน การทำงาน การใช้ชีวิตของเชฟแพม มาร่วมแชร์ประสบการณ์ แรงบันดาลใจต่าง ๆ อย่างเต็มอิ่มกันได้เลย

 

‘เชฟแพม-พิชญา สุนทรญาณกิจ’ เจ้าของร้านโพทง (POTONG)

จากความชอบ ความฝัน

สู่ความท้าทาย บนเส้นทางของการเป็นเชฟ


อย่างที่ทุกคนในวงการอาหารต่างทราบกันดีว่า ร้าน ‘โพทง’ นั้น เป็นหนึ่งในร้านอาหารไทยไฟน์ไดน์นิ่งที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก ทั้งการคว้าดาวมิชลินในประเทศไทย และติดโผหนึ่งในลิสต์ร้านอาหารที่ดีที่สุดในเอเชีย ประจำปี 2024 นี้อีกด้วย แต่กว่าที่จะมาเป็นร้านโพทงได้ในทุกวันนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ด้วยแพสชันในการชอบทำอาหาร บวกกับความตั้งใจในการทำร้านอาหารแห่งนี้ให้เป็นพื้นที่ที่บอกเล่าเรื่องราวที่เต็มไปด้วยร่องรอยในอดีต ความทรงจำอันแสนดีของครอบครัว การเลือกลงมือทำในสิ่งที่รักจึงเกิดขึ้น


“ความจริงแพมไม่ได้จบเชฟโดยตรง แพมเรียนนิเทศฯ จุฬาฯ ค่ะ ซึ่งในระหว่างที่เรียนอยู่ปี 2 แพมก็รู้สึกว่าเราอยากทำอะไรที่เรา อยากตื่นขึ้นมาทำมันทุกวัน ก็เลยปรึกษาคุณแม่ ลองเรียนทำอาหาร หนึ่งเพราะว่าเราช่วยคุณแม่ในครัวตลอด แล้วก็รู้สึกว่าเอ็นจอย รู้สึกว่าการอยู่ในครัว มันไม่เหมือนการทำงาน เหมือนเป็นงานอดิเรก ตอนนั้น เลยไปเรียนเลอ กอร์ดอง เบลอ (Le Cordon Bleu) ช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ พอได้เรียนจริง ๆ ก็รู้สึกหลงใหลกับการอยู่ในครัว มันมีความได้ปลดปล่อยอะไรสักอย่าง การได้ทำอาหารให้คนทาน พอได้ฟีดแบ็กมันรู้สึกว่าเติมเต็มเรา

มาก ๆ”

 

เบื้องหลังการรังสรรค์ความอร่อย

“หลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัย ก็มีโอกาสได้ไปเรียนต่อเมืองนอก เรียนทำอาหารที่นิวยอร์ก 2 ปี ที่ CIA - The Culinary Institute of America ซึ่งตอนที่เรียน ไม่มีวันไหนเลยที่ขาดเรียน ความรู้สึกนั้นมันเหมือนเราไม่อยากพลาด อยากไปเรียนทำอาหารทุกวันจริง ๆ ทำให้เรายิ่งรู้ว่า คงไม่ได้มีอาชีพอื่นที่เราอยากจะเป็น นอกจากอาชีพนี้แล้ว อยากทำให้สุด แล้วก็ทำให้ดีที่สุด เพื่อที่เราจะได้ไม่เสียใจ ไม่เสียดายทีหลัง อยากเป็นที่สุดเท่าที่เราจะทำได้

พอเรียบจบจาก CIA ก็ลองไปฝึกงานต่อ ทำงานในร้านอาหารที่นิวยอร์ก ชื่อ Jean George ประมาณ 2-3 ปี แล้วก็ได้กลับมาเมืองไทย จำได้ว่าตอนแรกอยากพักสักหนึ่งปี เพราะตอนอยู่ที่นู่นทำงานหนักมาก แต่พอว่างเว้นจากการทำงานจริง ๆ ก็เริ่มรู้สึกเบื่อ เลยตัดสินใจทำ Chef’s Table ขึ้นมาในตอนนั้น หลังจากนั้นการทำ Chef’s Table ก็เกิดติดตลาดขึ้นมาแบบปากต่อปาก หลังจากนั้นจึงทำร้าน SMOKED ขึ้นมา ตามด้วยโพทง แล้วก็ OPIUM BAR"

 

การบอกเล่าเรื่องราว ความเป็นมาของของตึกโพทง ที่ถูกนำมาจัดแสดง ตกแต่งไว้ภายในร้าน เพื่อให้คนที่เข้ามาทานอาหาร ได้ทำความรู้จักกับร้านโพทงมากขึ้น

“เส้นทางของการเป็นเชฟ กว่าจะมาถึงทุกวันนี้ บอกเลยว่าแพมผ่านอะไรมาเยอะมาก ตั้งแต่ตอนที่อยู่นิวยอร์กก็โทรฯ มาร้องไห้กับคุณพ่อคุณแม่ทุกวันว่าอยากกลับ เพราะว่ามันเหนื่อยใจ แล้วมันก็เหนื่อยกาย ด้วยความที่วัฒนธรรมของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน คนไทยจะมีความเกรงใจ คนที่โน่นเขาจะพูดตรง แล้วเราก็รู้สึกช็อก ต้องใช้เวลาปรับตัวอยู่นานพอสมควร แต่ในเมื่อเรามาถึงขั้นนี้แล้ว หลายคนอยากมาอยู่ในจุดที่เราอยู่ ได้ทำอาหารในร้านอาหารมิชลิน 3 ดาว ก็เลยฮึดสู้ต่อ พอผ่านไปสัก 6 เดือน ก็เริ่มชิน แพมว่าทุกสายงานต้องสู้กับใจตัวเองว่าอยากจะไปถึงจุดไหน แล้วถ้ามีจุดที่ขัดข้อง เราเลือกจะยอมแพ้ หรือว่าจะลุยต่อ แค่นั้นเอง”



กว่าจะเป็น ‘ร้านโพทง’ ได้ทุกวันนี้


“ถ้าในแง่ของอาหาร เราใช้เวลาเป็น 10 ปี มันคือประสบการณ์ทุกอย่างที่สะสมมา ไม่ว่าจะเป็นคำสอนจากคุณแม่ตั้งแต่เด็ก ว่า เวลาเราทำอะไรต้องเลือกวัตถุดิบที่ดีที่สุด เราถูกปลูกฝังมาอย่างนั้นตั้งแต่เด็ก ๆ รวมถึงตอนเรียนทำอาหาร แม้จะเป็นงานที่จำเจ ตอนนั้นเราอาจจะรู้สึกว่ามันน่าเบื่อ แต่พอย้อนมองกลับไป แพมรู้สึกว่าแพมได้เรียนรู้ความอดทน เวลาทำอะไรจำเจสำหรับแพม จะบอกตัวเองตลอดว่า พรุ่งนี้ถ้าเราทำดีกว่าวันนี้ ต่อไปเราจะพัฒนาอะไรได้บ้าง


แพมว่าเชฟหลาย คนกว่าจะมาถึงจุดที่ว่า ต้องใช้เวลากับการพิสูจน์ให้ตัวเองเห็นว่าเราชอบแบบนี้ อยากทำแบบนี้ เราอยากอยากสื่อสารแบบนี้ออกไป ในแง่ของความคิด ในแง่รสชาติ ในแง่วัฒนธรรม แพมว่ามันเป็นสิ่งดี สิ่งที่เราค่อย ๆ เรียนรู้มา จนกระทั่งกลายมาเป็นร้านอาหารโพทงในทุกวันนี้”

 

เส้นทางของการเป็นเชฟ ถูกเล่าผ่านบทสนทนา ท่ามกลางบรรยากาศสุดคลาสสิกของร้านโพทง

“ส่วนตึกโพทง แต่เดิมเป็นตึกที่สร้างมาเมื่อ 120 ปีที่แล้ว โดยบรรพบุรุษของแพม ซึ่งนั่งเรือสำเภาโพ้นทะเลมาจากเมืองจีน แล้วก็มาค้าขายในเมืองไทย หลังจากนั้นก็ย้ายมาตั้งถิ่นฐานที่นี่ ตึกนี้ท่านสร้างเพื่อเป็นโรงงานผลิตยาจีน คนสมัยก่อนสร้างตึกนี้ได้แข็งแรงมาก เพราะว่ายาจีนเป็นยาน้ำ จะมีโอ่งใส่ยาจีน ถูกวางตั้งไว้ที่ชั้น 2 เยอะมาก พอ 60 ปี ผ่านไป ครอบครัวโยกย้ายไปอยู่แถวสุขุมวิท ตึกนี้ก็เปิดให้เช่าเป็นที่ขายของ หลังหมดสัญญาเช่าตึก คุณปู่ก็ให้เราลองมาสำรวจพื้นที่ในตึกนี้อีกครั้ง ก็มีโอกาสได้เข้ามาดู แพมรู้สึกว่ามันขนลุก เพราะว่าแต่ละชั้นคือความออริจินัลหมดเลย รู้สึกว่ามันมีจิตวิญญาณ​ มีร่องรอยของอดีต ความทรงจำที่ฝังอยู่ในผนัง คุณปู่ก็จะทยอยเล่าให้ฟังว่าแต่ก่อนห้องนี้คืออะไร ตรงนี้เป็นห้องทำงาน ชั้นบนเป็นห้องนอน แพมรู้สึกว่าเรามายืนในจุดที่บรรพบุรุษเราเขาสร้างทุกอย่างขึ้นมา มันคือโลเคชันเดียวกัน แต่ว่าคนละกาลเวลา ก็รู้สึกว่ามันเจ๋งมาก ๆ ค่ะ


ร้านอาหารในความฝันของแพม เลยไม่สามารถเป็นที่อื่นได้ นอกจากตึกนี้ รู้สึกว่าเราพร้อมที่จะเปิดอะไรที่เป็นตัวเราจริง บวกกับตึกที่เป็นของครอบครัว เรื่องราวทุกอย่างมันประจวบเหมาะพอดี ก็เลยรีโนเวทตึกนี้ ให้เป็นร้านอาหารอย่างจริงจัง  แต่ความท้าทายคือ กว่าตึกนี้จะเสร็จเนี่ย ใช้เวลานานพอสมควร ช่วงโควิด 2019 เราก็ค่อย ทำไปเรื่อย ปรากฏเสร็จตอนโควิดคลายล็อกดาวน์ เปิดร้านได้พอดี เป็นเวลาที่เหมาะเจาะ แต่ก็กว่าจะเสร็จก็คือ 2 ปีครึ่ง”

 

กว่าจะมาเป็นร้านโพทงจนถึงทุกวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

ทำความรู้จักกับอาหารสไตล์ Progressive Thai Chinese


“เรารู้สึกว่าอยากทำอะไรที่มันบ่งบอกถึงความเป็นชาติตระกูล เป็นมรดก เป็นชาติของเรา แพมก็อ่านประวัติของคนจีนที่มาอยู่ในประเทศไทย ซึ่งตอนนี้ก็กลายเป็นคนไทยไปแล้ว เป็นส่วนหนึ่งของย่านทรงวาดนี้ไปแล้ว ก็เลยอยากยกระดับอาหารไทย-จีน ขึ้นมา

ซึ่งหลายคนอาจถามว่าอาหารไทย-จีน มันคืออะไร? สำหรับแพมมันคือ อาหารไทยอีกประเภทหนึ่ง เพราะอาหารไทยเรามีทั้งอาหารเหนือ อาหารใต้ อาหารอีสาน แล้วแพมก็ว่ามีอาหารไทย-จีน รวมอยู่ด้วย  เลยอยากจะหยิบความน่าสนใจของอาหารสไตล์นี้ขึ้นมาให้ทุกคนได้ทำความรู้จักมากขึ้น และด้วยความที่เราเป็นหนึ่งในคนไทยเชื้อสายจีน ที่สืบสานวัฒนธรรมการกินอยู่ตามแบบผู้คนในย่านนี้ จึงไม่แปลกที่อาหารสไตล์นี้จะถูกหล่อหลอมให้เป็นหนึ่งเดียวกับอาหารไทย อย่างก๋วยเตี๋ยว ผัดไทย ผัดกะเพรา ที่ล้วนเป็นอาหารไทย-จีน กลายเป็นหนึ่งในประเภทของอาหารไทยที่เราเลือกมานำเสนอในร้านโพทงแห่งนี้”

 

พิถีพิถัน ใส่ใจในทุกขั้นตอนทำอาหาร

ก้าวใหม่ของร้านอาหารไทย-จีน ไฟน์ไดน์นิ่ง ‘โพทง (POTONG)’


“ปัจจุบันร้านโพทง มีการปรับเปลี่ยน พัฒนาตลอดเวลา ทั้งในแง่ของอาหาร ที่ต้องเปลี่ยนเมนู คิดอะไรใหม่ ที่ยังไม่มีใครเคยทำ มีความออริจินัล แล้วแพมก็อยากจะคิดอะไรที่ไม่ใช่แค่เมืองไทยไม่เคยทำ ทั้งโลกไม่เคยทำ แต่กว่าจะคิดเมนูนึงออกมาได้ ก็ต้องใช้เวลา อย่างผัดไทยก็เป็นเมนูล่าสุดของเรา เป็นผัดไทยเส้นใหญ่ลวดลายธงชาติ จากสีธรรมชาติ วางบนเนื้อปู แต่กว่าจะคิดอันนั้นได้ ก็ต้องมีการคิดอะไรหลาย อย่าง หนึ่งคือหน้าตาอาหารต้องดี สองรสชาติมันต้องได้ เพราะถึงหน้าตาอาหารจะดีแค่ไหน ถ้ารสชาติไม่ได้คนก็ไม่กลับมากินซ้ำ และบางทีต้องมีมากกว่านั้น"



"แพมอยากให้ร้านโพทงเป็นที่สร้างความทรงจำ เหมือนดึงดูดลูกค้าเข้ามาในตึกนี้ แล้วใช้เวลาดื่มด่ำกับสิ่งที่เราเสิร์ฟ เรื่องราวที่เล่าผ่านอาหารออกไป แล้วเขาก็จะรู้สึกว่าเฮ้ย! โชว์เมื่อกี้เป็นโชว์ที่เจ๋งมาก”

 

บรรยากาศการไดน์นิ่งภายในร้าน

"ด้านตัวตึกก็มีการพัฒนาตลอดเวลาเช่นกัน อย่างพื้นที่บริเวณระเบียง ก็ปรับให้เป็น Glass House ได้มู้ดบรรยากาศที่ผ่อนคลายมากขึ้น ในส่วนของพนักงานก็มีการเทรนเพิ่มเติม แพมเชื่อว่าการพัฒนาคนในองค์กร จะทำให้วัฒนธรรมการทำงานในองค์กรของเรามีศักยภาพ มีการพัฒนาหลาย  ด้านมากขึ้นค่ะ”

 

เชฟแพมและทีม ตั้งใจครีเอตเมนู 'ผัดไทย' อย่างสุดฝีมือ

“ผัดไทย คือเมนูใหม่ล่าสุด ซึ่งทุกคนที่เข้ามาทานก็จะตื่นเต้นกับธงชาติไทยที่ทำจากเส้นใหญ่ พร้อมด้วยประสบการณ์ใหม่ มีไวน์ที่เราคอลแลปกับ Winery ไทยอิสระ รวมถึงการเล่าเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับเครื่องเทศ เพราะย่านทรงวาด จะนิยมขายเครื่องเทศกันตั้งแต่ไหนแต่ไร เพราะฉะนั้นของหวานที่ร้านเราก็จะมีกลิ่นอายของเครื่องเทศด้วย แต่ละคอร์สเราก็จะมีการบอกเล่าเรื่องต่าง แล้วก็มีเทคโนโลยี AR และ VR จำลองภาพ ผ่านการสัมผัส เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ เพิ่มอรรถรสในการทานอาหารให้กับลูกค้า”



สไตล์การทำงาน เทคนิคการทำอาหารในแบบฉบับของเชฟแพม


“แพมเชื่อว่าเชฟทุกคน ไม่ว่าจะมีชื่อเสียงแค่ไหนหรือมีประวัติดียังไง เราก็ต้องพัฒนาในสิ่งที่เราไม่เคยทำ ลองผิดลองถูกไปเรื่อย เราอาจจะเจอเทคนิคใหม่ที่ยังไม่มีใครค้นพบในโลกนี้เลยก็ได้ ซึ่งก็ต้องคิดนอกกรอบ

แต่การบริหารในครัวแพม แพมจะเป็นคนที่ไม่ดุ เขาก็จะรู้ว่าแพมเป็นคนที่ใจเย็น เพราะว่าแพมเชื่อว่าคนเราผิดได้ แล้วก็จะชอบให้โอกาสคนได้ลองสิ่งที่เขากลัวที่จะลอง เราเหมือนเป็นคนผลักเขาไปอยู่จุดนั้น สุดท้ายตั้งแต่แพมทำอย่างนี้มา ทุกคนทำได้หมด ไม่กลัวที่จะก้าวไปข้างหน้า เราควรที่จะอินสไปร์เขา ให้เขาเชื่อมั่นในตัวเอง แล้วก็มอบหมายโอกาสดี ๆ ให้เด็ก ได้ลองทำ”

 

ทีมเวิร์คคือส่วนสำคัญที่ทำให้ร้านโพทงประสบความสำเร็จมาจนถึงทุกวันนี้

เบื้องหลังความสำเร็จ และการส่งมอบทุกโอกาสสำคัญ

ให้กับคนรุ่นใหม่ที่มีใจรักในการทำอาหาร


“คนส่วนใหญ่มักเห็นแพมเป็นเหมือนด่านหน้าของโพทง แต่อยากจะบอกว่า ความจริงแล้ว ทุกเบื้องหลังความสำเร็จ แพมมีสามีที่คอยซัพพอร์ท แพมจะคอยดูเรื่องอาหาร ส่วนสามีเขาจะดูเรื่องการจัดการ การตลาด เพราะร้านอาหารจะไม่สามารถอยู่ได้เลยถ้าขาดทุน อีกทั้งต้องดูเรื่องคน ดูเรื่องทิศทาง ดูแลทุกอย่าง บวกกับแพมเชื่อว่าองค์กรที่ประสบความสำเร็จ แล้วไปได้ไกล ไม่มีทางเกิดขึ้นได้กับคน เดียว ทั้งทีมมีความสำคัญ

เพราะฉะนั้นจะบอกน้อง ๆ ในทีมตลอดว่า สิ่งที่เขาทำทุกวัน ถึงแม้มันจะจำเจ ถึงแม้เขาคิดว่ามันอาจจะไม่สำคัญ แต่สำหรับแพม ทุกอย่างมันเป็นเหมือนจิ๊กซอว์ที่พอมารวมกันแล้วมันต้องเต็มภาพ แม้จะเป็นจิ๊กซอว์เล็ก ที่เขาคิดว่าอาจจะไม่สำคัญ แต่ ถ้าขาดอันนึงไปแค่อันเดียว ภาพก็ไม่สมบูรณ์ โพทงจึงเป็นทีมเวิร์คของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นหน้าบ้านหลังบ้าน คนในออฟฟิศ คนที่ร้าน ทุก ๆ อย่างเป็นภาพรวมที่เป็นโพทงอย่างทุกวันนี้ค่ะ แพมเป็นแค่สื่อ แล้วก็เป็นแค่คนที่ทำอาหารออกมาให้คนทานได้ทาน

 

ภาคภูมิใจกับทุกสิ่งที่ได้ลงมือทำในสิ่งที่รัก

"สำหรับทุกรางวัลที่ได้รับในปี 2024 นี้ เรารู้สึกภูมิใจ รู้สึกว่ามันสำคัญกับทีมมาก เพราะแพมเชื่อว่ามันเป็นแรงบันดาลใจให้เขารู้สึกว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มันเกิดขึ้นได้ เพราะว่ามันคือความจริง แล้วก็ทุกรางวัล จะบอกน้อง ๆ ในทีมตลอดเวลาว่า รางวัลนี้ให้กับทุกคน ไม่ใช่ให้แค่แพมคนเดียว มันเป็นเหมือนแรงผลักดันให้เราพัฒนาตัวเองต่อไปเรื่อย ๆ ค่ะ”

 

ต้องไม่ลืมที่จะพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ

“สำหรับปีนี้เราได้เปิดตัวโปรเจ็กต์ ชื่อ ‘Women for Women (WFW)’ ซึ่งเป็นโปรแกรมที่สนับสนุนเยาวชนหญิงให้มีโอกาสได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีด้านอาหาร แล้วก็มีโอกาสได้มาทำงานในกรุงเทพฯ บวกกับได้มาทำงานที่โพทง เพราะเราอยากให้มีผู้หญิงในวงการอาหารมากขึ้น แพมเชื่อว่าผู้หญิงก็เก่งเท่ากับผู้ชาย สามารถมาอยู่แนวหน้าได้เหมือนกัน ขาดแค่โอกาสเท่านั้น


แพมรู้สึกว่า เราสามารถเปลี่ยนชีวิตคน ๆ นึงได้ เลยอยากเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเยาวชนหญิงไทยให้เติบโตในด้านอาหาร เลยคิดออกมาเป็นโปรแกรมชื่อว่า ‘Women for Women’ ซึ่งเราก็จะสนับสนุนค่าที่พัก ค่าอาหาร มีชุดเชฟให้เวลาทำงาน ขอให้มีใจรัก ขอให้ทุ่มเทจริง ๆ เพราะเรารับสมัครต่อปีเพียงแค่คนเดียว แพมอยากให้โปรเจ็กต์นี้ ทำให้เด็กผู้หญิงไทยได้เติบโตไปเรื่อย ๆ ได้เปิดโลกมากขึ้น”

 

เชฟแพมพร้อมสนับสนุนเยาวชนหญิงไทยที่มีความฝันอยากเป็นเชฟ

“ส่วนการรับคนเข้ามาทำงานที่ร้าน เราไม่เลือกอยู่แล้วว่าจะเป็นเพศอะไร สัญชาติอะไร หรือว่าจบอะไรมา มีน้อง ๆ หลายคนในครัวที่อาจจะไม่ได้จบทำอาหารมาโดยตรง แต่ว่าเคยไปฝึกงานมา แล้วก็รักมันจริง ๆ เราก็รับ ส่วนใหญ่แพมจะดูที่ทัศนคติ ถ้าเขาเป็นคนที่มีทัศนคติที่บวก มีความขยัน ทำงานเรียบร้อย เราก็พร้อมให้โอกาสอยู่แล้ว เพราะรู้สึกว่าทุกคนสามารถพัฒนาได้ เราสามารถสอนเขาได้ เป็นน้ำที่ไม่เต็มแก้วที่เราอยากจะเติมเต็ม เพราะฉะนั้นคนที่โพทง เราไม่ได้คัดเลือกเพศ สัญชาติ การศึกษา เราสามารถมีคนทำงานที่หลากหลายได้มากขึ้น แล้วสุดท้ายเขาก็จะไปเติบโต ไม่ว่าจะเติบโตกับองค์กรเรา หรือว่าเติบโตจากการไปทำงานที่อื่น ซึ่งแพมก็คิดว่า มันจะสามารถทำให้บุคลากรในด้านอาหารมีความหลากหลายมากขึ้น”

 

ลงมือทำอย่างตั้งใจจริง เพื่อผลลัพธ์ที่นำมาซึ่งความภาคภูมิใจ

“อาชีพเชฟ อาจมีจุดที่ท้อถอย แพมก็เคย ซึ่งแพมเป็นตอนที่แพมท้อง ซึ่งตอนนั้นกำลังสร้างตึกร้านโพทงอยู่พอดีเลย มันไม่แปลกที่จะท้อ แต่เราต้องกลับมาถามตัวเองว่า เรามาถึงจุดนี้แล้ว เราจะยอมแพ้เหรอ หรือว่าเราจะลุยกับมัน ต่อสู้มันไป การประสบความสำเร็จ มันไม่ได้มาด้วยโชค มันมาได้ด้วยความพยายาม ความอดทน มาได้ด้วยการล้มเหลวหลาย ๆ ครั้ง มาด้วยการมีอุปสรรคหลาย ๆ อย่าง ซึ่งทำให้คน ๆ นึง ประสบความสำเร็จได้"


"สมมติว่าตอนนี้คุณอยู่ในจุดที่คุณล้มเหลว คุณหมดไฟ คุณรู้สึกว่ามันเหนื่อย แพมว่าคุณมาถูกทางแล้ว สู้ไปอีกนิดนึง แพมว่ามันจะมี ‘Light at the end of the tunnel’ สุดท้ายแล้วแพมว่าโอกาสหลาย ๆ อย่างจะเข้ามา แต่มันต้องผ่านจุดนี้ไปให้ได้ก่อน ถ้าคุณใจรัก ถ้าคุณเลือกที่จะไปด้านนี้จริง ๆ แต่ถ้าคุณยังรู้สึกว่าคุณชอบอย่างอื่นมากกว่าอันนี้ หรือทั้งชีวิตเรียนมาแล้วมีความใฝ่ฝันอยากจะเปิดร้าน และพยายามมาตลอด แต่ตอนนี้รู้สึกว่าเราเฟลมาก แพมว่าคุณมาถูกทางแล้ว คุณต้องสู้ไปอีกนิดนึง แล้วคุณก็จะประสบความสำเร็จ”



เต็มที่กับการเป็นแม่ และบาลานซ์ชีวิตการทำงานให้ลงตัว


“แพมว่าหลัก เลยที่มีเชฟผู้หญิงน้อย อาจเป็นเพราะว่ามีครอบครัว เพราะตอนที่แพมท้อง แพมเองเคยถึงจุดที่รู้สึกว่า เราอยากเป็นแม่ที่ดี ซึ่งแม่ที่ดีในอุดมคติที่แพมคิดก่อนหน้านั้นก็คือ อยู่กับลูก ให้นมลูก พาลูกไปโรงเรียนทุกวัน อยู่กับลูกตลอดเวลาทุกย่างก้าว และถ้าเป็นอย่างนั้น แพมก็ไม่สามารถกลับมาเป็นเชฟได้ ซึ่งแพมเชื่อว่าหลาย คน เขาคิดแบบนี้ เขาก็เลยกลับไปเลี้ยงลูก อาชีพที่ใฝ่ฝันว่าเขาก็ไม่ได้สานต่อ แต่สำหรับแพม มันมีจุดนึงที่แพมคิดจนรู้สึกผิดว่าทำไมเราไม่มีเวลาให้ลูกเลยนะ แต่จริง มันคือสิ่งที่แพมสร้างขึ้นเองในบทบาทของการเป็นแม่ แต่พอเวลาผ่านไป ก็ได้ลองคุยกับสามี คุยปรึกษากับครอบครัว ปรึกษากับทีม เราก็รู้สึกว่าเรามีเวลาเท่านี้ ที่จะสร้างโพทงขึ้นมา สุดท้ายอนาคตก็คือสำหรับลูก เราอยากทำตรงนี้ให้ดี แล้วเวลาที่เหลือ เราก็ให้ลูกร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นการที่รู้สึกผิด มันเป็นแค่สิ่งที่เราคิดคนเดียว เลยรู้สึกว่าเราต้องปล่อยวางมากขึ้น แล้วก็ทำพาร์ทของแม่ให้ดีที่สุด ควบคู่กับพาร์ทของการทำงานให้ดีที่สุด พอเวลาอยู่ที่ทำงานเราก็ร้อยเปอร์เซ็นต์ พอเวลาอยู่บ้านเราก็ร้อยเปอร์เซ็นต์ แพมเลยก้าวผ่านตรงนั้นไปได้

แต่เชื่อว่าผู้หญิงหลายคนที่เป็น Working Woman แล้วต้องดรอปงานไป เพราะมีลูก มีครอบครัว ต้องทำหน้าที่แม่ ซึ่งนั่นอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เชฟผู้หญิงน้อยลง แต่แพมว่าเดี๋ยวนี้มีเชฟผู้หญิงเพิ่มขึ้น เพราะผู้หญิงก็คิดว่า ฉันก็ทำงานได้ แล้วฉันก็เลี้ยงลูกได้ สามารถทำทั้งสองอย่างได้ อีก 5 ปีข้างหน้า แพมว่าเราจะได้เห็นผู้หญิงไม่ใช่แค่ทำงานในวงการอาหาร เราจะเห็นผู้หญิงในทุกองค์กรมากขึ้นเรื่อย ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีแน่นอน”

 

เชฟแพมขอเป็นกำลังใจและส่งต่อแรงบันดาลใจสู่เชฟรุ่นใหม่

ต้นแบบของการทำงานและการใช้ชีวิตของเชฟแพม

“การทำงานที่มาถึงทุกวันนี้ได้ เพราะว่าคุณแม่สอนแพมมาตั้งแต่เด็ก ๆ คุณแม่เป็น House Wife ทุกวันก็จะทำอาหารให้ทานทุกมื้อสำหรับครอบครัว เพราะฉะนั้น เขาก็เป็นเหมือนเชฟคนนึงในบ้าน เป็นคนเป๊ะ เลือกวัตถุดิบต้องดีที่สุด จะสอนแพมตลอดว่า การทำอาหารให้คนกิน มันต้องเริ่มจากอะไร แล้วถ้าไม่ดีจริงก็ไม่ควรเสิร์ฟ ทุกวันนี้เวลาที่ร้านเปลี่ยนเมนู ก็จะมีคุณแม่มาคอยชิมให้ เพราะท่านเป็นคนเดียวที่กล้าติเรา กล้าพูดความจริงกับเรา ทำให้เราพัฒนาต่อไปได้ เพราะฉะนั้นคุณแม่เลยเป็นไอดอลที่ทำให้เราทำงานสายนี้ มีแนวความคิด อะไรหลาย ๆ อย่าง ที่หลอมรวมความเป็นตัวเราอย่างในทุกวันนี้ค่ะ”

 

ร้านโพทง (POTONG) หนึ่งในความภาคภูมิใจและความสำเร็จของ 'เชฟแพม-พิชญา สุนทรญาณกิจ'