Ramen Culture
ชวนมาอร่อยไปกับเมนูสุดพิถีพิถัน ดื่มด่ำวิถีแห่งราเมงของเชฟชินกับเบื้องหลัง No Name Noodle ราเมงไร้ชื่อที่ขึ้นชื่อว่าจองยากที่สุดแห่งปี !
สำหรับสายราเมงเลิฟเวอร์ เราเชื่อว่าหลายคนคงจะคุ้นหูกับชื่อ ‘เชฟชิน (Shinji Inoue)’ เชฟหนุ่มชาวญี่ปุ่นที่หลงใหลในวิถีของราเมง จนกลายมาเป็นเจ้าของร้าน No Name Noodle ร้านราเมงที่ขึ้นชื่อว่าจองยากเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย ซึ่งวันนี้เราได้โอกาสดี จึงขอมาบุกครัว ชวนมาดูเบื้องหลังและทำความรู้จักกับราเมงบอยคนนี้ให้มากขึ้นผ่านบทสัมภาษณ์ในคอลัมน์ #BehindTheTaste นี้ไปพร้อมๆ กัน
กว่าจะมาเป็นร้านราเมงไร้ชื่อ ที่ชื่อดังและจองยากขนาดนี้
ในจุดเริ่มต้นนั้น เชฟชินเล่าให้เราฟังว่า เขามีความผูกพันกับราเมงมาตั้งแต่เด็ก ด้วยความที่คุณแม่เปิดร้านอาหารแบบยาไต (Yatai) และเป็นเชฟราเมงมาก่อน ทำให้เชฟชินได้เห็นคุณแม่ทำราเมงมาตั้งแต่อายุ 5 ปี และเอกลักษณ์ของร้านอาหารแบบยาไตคือการนั่งที่บาร์และเห็นเชฟทำอาหารให้ทานแบบใกล้ชิด สิ่งเหล่านี้จึงหล่อหลอมกลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้เชฟชินรังสรรค์บรรยากาศรวมถึงรสชาติอาหาร ส่งต่อจากรุ่นแม่มาสู่ No Name Noodle ที่หลายคนได้ลิ้มลองในปัจจุบัน
“เหมือนนั่งไทม์แมชชีนกลับไปในวัยเด็กนั่นเอง”
ทำไมถึงเป็น No Name ?
ส่วนชื่อร้านที่ตั้งใจให้ไร้ชื่ออย่าง ‘No Name’ เกิดจากความตั้งใจของเชฟชินที่จะทำราเมงชามพิเศษที่อร่อยที่สุดให้ทุกคนได้ทาน จึงไม่อยากคนให้โฟกัสเพียงแค่ชื่อ สถานที่ หรือเบอร์โทร แต่ต้องการให้ทุกคนได้ใช้ช่วงเวลาเหล่านี้ในการดื่มด่ำ ชื่นชม และจดจำบรรยากาศ รวมถึงรสชาติของเมนูอาหารได้อย่างลึกซึ้งเพราะมากกว่าความอร่อยของการได้ลิ้มลองเมนูอาหาร คือเรื่องประสบการณ์และบรรยากาศของการได้ลิ้มรสชาติของอาหารชามนั้นๆ ในเรื่องเคล็ดลับความอร่อยของเมนูสุดพิถีพิถันนี้ เชฟชินจึงเล่าว่าการทำราเมงของเขา “ทำทุกชามมาจากหัวใจ โดยให้ความสำคัญในทุกขั้นตอนตั้งแต่การทำเส้น รสชาติของน้ำซุป และการเลือกสรรวัตถุดิบที่ดี ด้วยความตั้งใจส่งมอบราเมงทุกชามเป็นของขวัญชิ้นพิเศษให้กับทุกคน” ก่อนจะอธิบายต่อให้เห็นภาพมากขึ้นว่า เขาอยากให้ทุกคนได้สัมผัสความรู้สึกของการได้รับของขวัญชิ้นพิเศษจากแฟนที่รักนั่นเอง
The Art of Ramen
แล้วราเมงที่เป็นอาหารญี่ปุ่น ทำอย่างไรให้ถูกปากคนไทย?
เชฟชินอธิบายว่าที่ No Name มีหลักการทั้งหมด 3 ข้อสำหรับการทำราเมง อย่างแรกคือการให้ความสำคัญกับน้ำซุปแบบคลาสสิกอย่าง Shoyu และ Shio ที่เชฟตั้งใจบอกต่อให้คนไทยเข้าใจในเรื่องของเบสน้ำซุปอย่างแท้จริง ส่วนต่อมาคือเรื่องของรสชาติ ‘อูมามิ’ จากธรรมชาติ โดยเชฟจะใช้ทั้งสาหร่ายคอมบุจากฮอกไกโดและปลาแห้งมาเป็นตัวชูโรง และสุดท้ายที่สำคัญมากในการทำราเมงคือ ‘แป้งสาลีและน้ำเปล่า’ ที่เป็นหัวใจของการทำเส้นราเมงแบบต่าง ๆ ในทุกเช้าของวัน โดยเชฟชินมีความมุ่งมั่นอยากให้คนไทยได้เรียนรู้ความแตกต่างของเส้นแต่ละแบบรวมไปถึงเท็กเจอร์ที่ไม่เหมือนกัน เพื่อให้คนไทยเข้าใจความอร่อยแบบชาวญี่ปุ่น เรียกได้ว่าทุกชามผ่านความพิถีพิถัน จนได้เป็นเมนูอาหารตามแบบฉบับญี่ปุ่น Authentic แท้ๆ
แม้ว่าตอนนี้ทางร้านทำราเมงวันละ 35 ชาม แต่รับรองได้เลยว่ามาพร้อมคุณภาพแบบแน่นชามแน่นอน เพราะอย่างแรกที่เชฟชินคำนึงถึงคือคุณภาพที่ต้องดีเหมือนเดิมทุกวัน เสิร์ฟเส้นสดใหม่ทุก ๆ วัน เป็นเหตุผลที่เชฟจึงต้องตื่นตั้งแต่ตีห้าเพื่อจะมาทำเส้นแบบสดใหม่ในทุกเช้านั่นเอง
This Summer
เพราะว่าเดือนสิงหาคมถือเป็นหน้าร้อนของประเทศญี่ปุ่น ช่วงนี้เชฟชินจึงขอส่งต่อรสชาติอูมามิอันแสนสดชื่นผ่าน Seasonal Menu อย่าง HIYASHI HOTATE SOBA ให้ได้ลิ้มลองกัน โดยชามนี้เป็นเมนูเย็น จึงถูกชูด้วยความหอมของตัวแป้ง ก่อนเสิร์ฟเชฟจะค่อย ๆ ราดความอูมามิเคลือบลงบนเส้นแล้วทำการเรียงให้สวยงามเพื่อไล่ฟองอากาศ เสิร์ฟมากับซุปเย็นโฮตาเตะ เคียงมากับซุปร้อนจากปลามะไดที่สามารถซดหรือดิปทานไปพร้อมกันได้ ท๊อปด้วยโฮตาเตะตัวโต อิคุระ และหมูชาชู มีดอก Hojiso และมะนาวญี่ปุ่นอย่าง Tsudaji มาเพิ่มสัมผัสอันแสนสดชื่นให้ชามนี้พิเศษขึ้นอีกเป็นเท่าตัวส่วนใครอยากทำราเมงอร่อย ๆ ทานเองที่บ้าน ตอนนี้ที่ No Name Noodle ก็มีส่วนของ Limited Box ให้ซื้อกลับไปสวมบทเชฟราเมงที่บ้านเองอีกด้วย โดยเมนูในเซ็ตจะเป็นเมนูคลาสสิกของที่ร้านอย่าง Shio และ Shoyu นั่นเอง หนึ่งกล่องสามารถทำได้ 2 เสิร์ฟ ให้คุณเอิ่มอร่อยไปกับคนพิเศษได้ที่บ้านเลย
ถึงจะเป็นร้านชื่อดัง แต่เมื่อเราถามถึงแพลนในอนาคตของทาง No Name เชฟชินก็ตอบด้วยสีหน้าภาคภูมิใจว่า ความตั้งใจคือการให้คนไทยได้เรียนรู้เรื่องราวของราเมงจากเชฟชินให้มากที่สุด เพื่อสามารถกลับไปทำเองได้อย่างเข้าใจ และยังมีเรื่องน่ายินดีที่เชฟชินทำการส่งต่อความอร่อยผ่านลูกศิษย์คนแรกไปเปิดร้านของตัวเองอีกด้วย
ราเมงที่อยากให้ทุกคนเข้าถึงได้
สุดท้ายแล้วเชฟชินยังมีความฝันอยากทำราเมงให้ทุกคนเข้าถึงได้ทั้งเด็กเล็กและผู้สูงอายุ ด้วยเหตุผลนี้จึงทำอาหารที่ไม่มีส่วนผสมที่อันตรายทั้งผงชูรสหรือสารกันบูด นอกจากนี้ยังมุ่งมั่นตั้งใจอยากไปทำราเมงให้กับคนที่มาชิมที่ร้านไม่ได้ ได้มีโอกาสชิมเช่นกัน เพราะฉะนั้นแฟน ๆ ราเมงในต่างจังหวัดตั้งตาคอยกันได้เลย!