‘ครบรอบ 77 ปี หนังสือเจ้าชายน้อย, 120 ปีผู้ประพันธ์ และ 111 ปี การค้นพบดาว B12’
ชวนแฟนพันธุ์แท้วรรณกรรมชิ้นเอกของโลกอย่าง ‘Le Petit หรือเจ้าชายน้อย’ ร่วมรำลึกถึงเรื่องราวของหนังสือเล่มหนึ่งที่นักปรัชญาชาวเยอรมัน มาร์ติน ไฮเดกเกอร์ ยกย่องว่าเป็นผลงานชิ้นสำคัญที่สุดแห่งศตวรรษของฝรั่งเศส กับงานนิทรรศการ ‘เจ้าชายน้อย : หนังสือ ของสะสมและการสนทนาข้ามวัฒนธรรม’ จัดโดย พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ (Thammasat Museum of Anthropology) งานนี้เป็นการนำเสนอเกี่ยวกับผู้ประพันธ์ เนื้อหาของวรรณกรรมผ่านการแปล การจัดแสดงสิ่งของสะสม พร้อมร่วมสร้างบทสนทนาใหม่ ๆ ผ่านมุมมองทางวัฒนธรรมและพิพิธภัณฑ์โลกร่วมสมัย
ภายในงานนิทรรศการนี้ ได้มีการรวบรวมหนังสือเจ้าชายน้อยฉบับภาษาต่าง ๆ เอาไว้มากมาย รวมไปถึงของสะสมจากทั่วโลกที่รอให้คุณไปเห็นกับตาและสัมผัสด้วยใจ นอกจากหนังสือและของสะสมแล้ว ภายในงานยังมีผลงานไฮไลต์สำคัญที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ ทั้งต้นฉบับเจ้าชายน้อย ภาษาสุโขทัย หรือ ‘ฃุนน้อย’ ที่ถูกจัดทำเป็นภาษาสุโขทัย ตัวอักษรตามศิลาจารึก หลักที่ 1 โดยการแปลของชาวสุโขทัยโดยแท้
ในส่วนของของสะสม คาแรกเตอร์ของเจ้าชายน้อย และเพื่อนผองบนดาวอื่นๆ ทั้งสุนัขจิ้งจอก พระราชา ชายขี้เมา ดอกกุหลาบ นักธุรกิจ คนจุดโคม งู ฯลฯ ทำจากเซรามิก เผยตัวอยู่ในตู้กระจกใส งานชุดนี้เป็นงานที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่จากศิลปินเซรามิกชาวสุโขทัย ภารุจีร์ บุญชุ่ม ที่ถ่ายทอดรายละเอียดของตัวละครไว้ท่ามกลางเนินทะเลทรายที่อ้างว้าง และยังมีของสะสมจากนักสะสมอีกหลายคน ที่แบ่งปันเรื่องราวของเจ้าชายน้อยในรูปแบบต่างๆ มาจัดแสดงเอาไว้ ไม่ว่าจะหมาป่าอาร์กติกสีขาวสตัฟฟ์ ที่เป็นตัวแทนของสุนัขจิ้งจอกทะเลทราย ชุดจานชาม ถ้วยชา ตุ๊กตา กระเป๋า ธนบัตรฝรั่งเศสซึ่งมีเจ้าชายน้อยอยู่บนธนบัตร ฯลฯ และอีกชิ้นที่น่าสนใจซึ่งตั้งอยู่หน้าหนังสือเจ้าชายน้อยฉบับมาลี คือตุ๊กตาเจ้าชายน้อยผิวสี ซึ่งซ่อนนัยของการต่อสู้การเหยียดสีผิวอยู่ในนั้น
ผู้ที่สนใจเข้าชมนิทรรศการ สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/SocAnthTUMuseum