Ars longa, Vita brevis ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น
ประโยคคุ้นหูที่ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี หยิบยกจาก Hippocrates หมอชาวกรีกโบราณมาสอนลูกศิษย์ลูกหา ‘ให้หมั่นเรียนรู้ตลอดเวลาเพราะชีวิตคนเรานั้นแสนสั้น แต่ศิลปวิทยาการและความรู้ร่ำเรียนเท่าไหร่ก็ไม่มีวันจบสิ้น’ ก่อนจะแพร่หลายและกลายเป็นวลีประจำตัวท่าน และจากไปทิ้งไว้เพียงคุณงามความดี รวมถึงผลงานศิลปะนานัปการให้คนรุ่นหลัง
The Father of Modern Thai Art
เหล่านักศิลปะและคนรุ่นหลังส่วนใหญ่ต้องคุ้นเคยกับชื่อ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี หรือ คอร์ราโด เฟโรชี นายฝรั่งผู้เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลจากอิตาลีมาสู่ประเทศไทยเพื่อรับราชการในราชสำนักสยามในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ก่อนจะริเริ่มนำศิลปะตะวันตกมาใช้ในการสร้างงานประติมากรรม และกลายเป็นผู้วางรากฐานวิชาศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทยให้คนรุ่นหลัง รวมถึงสถาปนามหาวิทยาลัยศิลปะแห่งแรกของประเทศไทยขึ้นในชื่อ ’มหาวิทยาลัยศิลปากร’ และได้รับการยกย่องให้เป็น ‘บิดาแห่งศิลปะสมัยใหม่ของไทย’
ทุกวันที่ 15 กันยายนของทุกปี จะเป็นวันคล้ายวันเกิดและถือเป็น วันศิลป์ พีระศรี เพื่อรำลึกถึงครูผู้อุทิศตนทั้งชีวิตเพื่อนักเรียนและศิลปะจนวินาทีสุดท้ายของชีวิต เหล่าศิลปินและนักเรียนศิลปะ รวมทั้งมหาวิทยาลัยศิลปากรจะร่วมกันจัดงานรำลึกถึงคุณงามความดี หากให้พูดถึงประวัติของศาสตราจารย์ศิลป์ คงใช้เวลาทั้งวันในการเล่า BKK จึงอยากชวนคุณมาร่วมตามรอยหลากหลายสถานที่ที่จะพาเราไปย้อนรอยและทำความรู้จักกับศิลปะในแบบนายช่างฝรั่งศิลป์ พีระศรีกันดีกว่า
เสียงเพลงคลาสสิกแว่วมาให้ได้ยินเป็นการต้อนรับเข้าสู่ห้องเก็บเรื่องราวของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ภายในตึกสีเหลืองโทนเดียวกันกับบ้านพัก และบานประตูสีเขียวที่เปิดออกรอเข้าไปสัมผัสบรรยากาศ และเรื่องราวในอดีตยังด้านในที่เคยเป็นห้องทำงาน และห้องปฎิบัติการสอนเดิมของท่าน
ภายในพิพิธภัณฑ์แบ่งการจัดแสดงออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกจัดแสดงผลงานประติมากรรม จิตรกรรม และภาพพิมพ์ชิ้นสำคัญของบรรดาลูกศิษย์ผู้ใกล้ชิด ได้แก่ นายเฟื้อ หริพิทักษ์, นายประยูร อุลุชาฎะ, นายชลูด นิ่มเสมอ, นายสนั่น ศิลากรณ์ ฯลฯ ที่กลายเป็นศิลปินชั้นเยี่ยมของประเทศไทย ผลงานส่วนใหญ่เป็นงานศิลปกรรมในยุคเริ่มแรกของศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทย ซึ่งดำเนินรอยตามแนวทางการสร้างสรรค์ศิลปะตามหลักวิชาการของศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ให้ได้ชมกันอย่างใกล้ชิด และเห็นถึงทุกรายละเอียดของความตั้งใจในงานศิลปะ
อีกส่วนจัดแสดงผลงาน ทั้งเครื่องมือในการสร้างสรรค์งานศิลปะ และข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี รวมทั้งโต๊ะทำงานที่จำลองบรรยากาศดั้งเดิม เมื่อครั้งที่ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ยังมีชีวิตอยู่ราวกับอยู่ในช่วงเวลานั้นจริง ๆ โดยมีรูปภาพสมัยเมื่อครั้งที่ท่านอาจารย์สอนนักเรียนภายในห้องจัดแสดงให้ได้ชมกัน
รวมถึงแบบร่างอนุสาวรีย์และประติมากรรมชิ้นสำคัญที่นำมาจัดแสดงไม่ว่าจะเป็น แบบร่างพระบรมรูปรัชกาลที่ 6, แบบร่างพระศรีศากยทศพลญาณ, พระประธานพุทธมณฑล, และต้นแบบพระเศียรรัชกาลที่ 8 นอกจากนี้ยังมีหนังสือหายากซึ่งเป็นหนังสือที่ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ใช้สำหรับค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับศิลปะตะวันตก ให้บริการแก่ผู้มาเยี่ยมชมภายในห้องจัดแสดง
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์
กรมศิลปากร ถนนหน้าพระธาตุ เขตพระนคร
เปิดทุกวันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 8.30 - 16.30 น. (ไม่มีค่าเข้าชม)
โทร. 0-2223-6162
www.museumthailand.com/Silp_Bhirasri_National_Museum
ใกล้กันนั้นเป็นที่ตั้งของหอประติมากรรมต้นแบบ (Hall of Sculpture) อาคาร 2 ชั้นทรงสูงที่ติดกระจกโดยรอบ ออกแบบมาเพื่อให้ได้รับแสงสว่าง และช่วยในการระบายความร้อนขณะปฏิบัติงาน เดิมโรงปั้นหล่อแห่งนี้ ใช้ปฏิบัติงานปั้นหล่ออนุสาวรีย์สำคัญของชาติของกองหัตถศิลปกรมศิลปากร มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2499
โรงปั้นหล่อนี้เป็นอาคารประวัติศาสตร์ ซึ่งศิลปินชั้นครูมากมายได้สร้างสรรค์งานประติมากรรมอันทรงคุณค่าไว้เป็นศิลปะสมบัติของชาติจำนวนมาก รวมถึงผลงานสำคัญของอาจารย์ศิลป์ พีระศรีและลูกศิษย์เอกของท่าน จัดแสดงต้นแบบพระบรมรูปพระเจ้าแผ่นดินในอดีต พระพุทธรูปสำคัญ และรูปปั้นอื่น ๆ อาทิ ต้นแบบรูปปั้นพระพิฆเณศวร, ต้นแบบพระพุทธรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราช, พระบรมรูปของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช, พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และต้นแบบรูปปั้นอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ฯลฯ
Original Modern Thai Art
ต้นแบบพระพุทธรูปปางลีลา ที่ถูกนำไปขยายเป็นพระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์ขนาดสูงกว่า 15 เมตร หล่อด้วยสำริด นับเป็นผลงานประติมากรรมสำคัญของอาจารย์ศิลป์ ที่ท่านได้ศึกษาศิลปะสุโขทัยอย่างลึกซึ้ง ก่อนจะสร้างเป็นพระพุทธรูปแบบใหม่ ที่ผสมผสานลัทธิสัจจนิยมของตะวันตกเข้ากับศิลปะไทยประเพณีแบบดั้งเดิม แล้วกลายเป็นจุดเริ่มต้นของศิลปะไทยสมัยใหม่ของไทย
จะสังเกตได้ว่าผลงานของอาจารย์ศิลป์ผสมผสานเอกลักษณ์ของไทยเข้ากับ Movement และกายวิภาคของประติมากรรมตะวันตกได้อ่อนช้อยสวยงามมาก
หอประติมากรรมต้นแบบ
ถนนหน้าพระธาตุ เขตพระนคร กรุงเทพฯ
เปิดทุกวันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 09.00 - 16.30 น. (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
www.facebook.com/หอประติมากรรมต้นแบบสำนักช่างสิบหมู่กรมศิลปากร
‘มหาวิทยาลัยศิลปากร’ อีกหนึ่งสถานที่ที่ทำให้เรานึกถึงชื่อของอาจารย์ฝรั่งศิลป์ พีระศรีคนนี้
ในสมัยนั้นศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เห็นความสำคัญของการศึกษาวิชาศิลปะ จึงเริ่มวางหลักสูตรวิชาจิตรกรรมและประติมากรรมให้มีมาตรฐานเดียวกับโรงเรียนศิลปะในยุโรปขึ้นที่โรงเรียนประณีตศิลปกรรม ก่อนจะเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากรดังปัจจุบัน โดยมีคณะจิตรกรรมประติมากรรมเป็นคณะเดียวของมหาวิทยาลัย เปิดสอนเพียง 2 สาขาวิชาคือ สาขาจิตรกรรมและสาขาประติมากรรม และกลายเป็นมหาวิทยาลัยที่สอนศิลปะแห่งแรกในประเทศไทย
โดยศาสตราจารย์ศิลป์ได้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีคนแรกของมหาวิทยาลัย และเป็นอาจารย์สอนวิชาศิลปะในขณะนั้น ลูกศิษย์ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าท่านมีความรักใคร่ ห่วงใยและปรารถนาดีต่อลูกศิษย์อยู่เสมอ และยังสร้างลูกศิษย์ซึ่งกลายเป็นศิลปินคนสำคัญจำนวนมากในประเทศไทย
ในทุก ๆ วันที่ 15 กันยายน ของทุกปีจะถือเป็นวันศิลป์ พีระศรี ซึ่งมหาวิทยาลัยและเหล่านักเรียนศิลปะจะจัดงานรำลึกถึงคุณงามความดีของศาสตราจารย์ศิลป์ ณ ลานอนุสาวรีย์อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ภายในมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ และวิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์
มหาวิทยาลัยศิลปากร
ถนนหน้าพระธาตุ เขตพระนคร
www.su.ac.th/th/index.php